บันทึก, ไม่มีหมวดหมู่

May the force be with Me ขอพลังการเขียนจงอยู่กับผมตลอดไป*

may-the-force-be-with-you
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ E-Book “Writer Begin” ที่เขียนเรื่องส่งไปแชร์ประสบการณ์กับเพื่อนในกลุ่มไลน์นัก (อยาก) เขียนที่รู้จักกัน นอกจากเรื่องของผมแล้วยังมีของอีก 15 คนที่มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวบนถนนน้ำหมึกของตัวเอง ใครที่สนใจก็เข้าไปดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่ http://www.dek-d.com/board/view/3600051/ เลยครับ

หลังจากที่ได้อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองก็เปลี่ยนไป มันทำให้ผมกลายเป็นคนรักการอ่านและหิวกระหายหนังสือมากจนแม้แต่พ่อยังตกใจ เพราะเมื่อก่อน พ่ออยากให้อ่านหนังสือเยอะๆ เลยใช้วิธีบังคับให้อ่าน (อ่านจบเรื่องละ 1,000 บาท) ผมยังไม่คิดจะแตะ จนทุกวันนี้กลายเป็นผมเสียเองที่บังคับให้พ่ออ่านหนังสือ หาหนังสือดีๆ มาให้พ่ออ่านอยู่ตลอด
เมื่อได้อ่าน หัวขโมยแห่งบารามอส กับ หนังสือชุด เซลาเฟีย ก็ทำให้รู้ว่าคนไทยอย่างเราก็เขียนนิยายกับเขาได้เหมือนกันนี่หว่า (และก็ได้รู้จักกับเว็บเด็กดีตั้งแต่ตอนนั้น) เลยเกิดอาการคันไม้คันมือ คว้าสมุดกับดินสอขีดเขียนเรื่องราวของตัวเองมาตั้งแต่อายุ 15 จนถึงตอนนี้ (ที่กำลังเขียนต้นฉบับเรื่องนี้)
นิยายเรื่องแรกเป็นนิยายแฟนตาซี โรงเรียนเวทย์มนตร์ (แหงล่ะ) ไม่มีอะไรหวือหวา ไม่แปลกใหม่ แต่เป็นงานเขียนที่ชอบมากๆ เพราะได้เขียนอย่างที่ตัวเองต้องการ (น่าเสียดายที่ตอนนั้นตัดสินใจลบเรื่องไปแล้ว) แม้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ให้ประสบการณ์กับเรามากพอสมควร ได้รู้ว่าเราเองก็เขียนหนังสือได้ มีคนคอยอ่าน คอยคอมเมนต์ เลยเขียนเรื่องที่สอง เกี่ยวกับอัศวิน ได้รับความนิยมมากพอสมควร (จนเอานิยายเรื่องนี้มายื่นเข้าเรียนต่อที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตร ความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียน การใช้ภาษา เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ในการทำงานจนถึงทุกวันนี้)
TK Young Writer 2012 ประตูก้าวแรกสู่เส้นทางนักเขียน
หลังจากที่เขียนนิยายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยมัธยม จนได้เข้ามาเรียนต่อเกี่ยวกับด้านนี้โดยตรงในระดับมหาวิทยาลัย ก็ได้มีโอกาสพบเจอเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ชอบการเขียนเหมือนกัน ทั้งจากชมรมวรรณศิลป์ และชมรมเกษตรสาน (วารสารประจำมหาวิทยาลัย) ที่ต่อมาก็ได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการวารสารฉบับดังกล่าว ที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสู่อีกมิติหนึ่งของการเขียน ทั้งการเขียนข่าว บทความ สกู๊ป บทสัมภาษณ์ บทบรรณาธิการ และคอลัมน์ที่รับผิดชอบประจำก็คือ เรื่องสั้นประจำฉบับ
แม้การเขียนนิยายและเรื่องสั้นจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกันอยู่ เพียงแต่ว่าเรื่องสั้นนั้นเราต้องคุมประเด็น เนื้อหา ตัวละครให้อยู่ในหน้ากระดาษที่กำหนด (ที่ผมต้องเขียนทุกๆ เดือนก็คือ หน้าครึ่ง) ซึ่งก็ผ่านการฝึกฝนจนสามารถเขียนได้ระดับหนึ่ง ประจวบเหมาะกับโอกาสที่เข้ามา ก็คือโครงการอบรม TK Young Writer 2012 เป็นการรับสมัครเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา เข้าร่วมฝึกการเขียนจากนักเขียนชื่อดัง และเมื่อสิ้นสุดโครงการ สมาชิกในค่ายก็จะมีผลงานตีพิมพ์จำหน่ายคนละเล่ม
ในค่ายนี้เองที่ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานของโลกนักเขียนมากขึ้น ว่ามีความกดดัน ยากลำบาก แต่ก็ยังเป็นงานที่เราอยากจะทำ และต้องทำให้ได้ อีกทั้งยังได้รู้จักเพื่อนๆ อายุไล่เลี่ยกันที่เก่งๆ เขียนหนังสือเทพๆ อีกเยอะมาก ซึ่งกลายเป็นว่าได้มาร่วมงานและสนิทกันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้
อยากเป็นนักเขียน ก็ต้องเขียนสิวะ!
เวลาพบปะนักเขียน ส่วนมากก็ถามคำถามเดิมๆ น่าเบื่อๆ ว่า “ทำยังไงถึงจะได้เป็นนักเขียนครับ / ค่ะ พี่” และก็มักจะได้รับคำตอบกลับมาว่า “มึงก็เขียนสิวะ (ครับ)”
ครับ คำตอบมันง่าย แต่ทำจริงมันโคตรจะยาก
ไหนจะการนั่งคิดพล็อต (ที่ต้องไม่ซ้ำกับคนอื่น) สร้างตัวละคร (ที่ต้องมีเอกลักษณ์ให้คนจำได้) วางโครงเรื่อง (ที่พอเขียนไปแล้วมันไม่ค่อยตรงกับที่คิดไว้สักเท่าไหร่) ลงมือเขียน (การเผชิญกับภาวะเขียนไม่ออกเป็นเรื่องที่ต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน)
แล้วมันง่ายอย่างที่บอกตรงไหนเล่า!
แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ พอเขียนไปเรื่อยๆ แล้วมันตัน ก็ลองถอยออกจากงานของตัวเองดูบ้าง (สักอาทิตย์นึง ให้เราเปลี่ยนบรรยากาศจากมัน ไม่คิดถึงมัน แล้วพอกลับมาอ่านใหม่ นั่นแหละครับ แก้ยับ) หรือไม่ก็หาเพื่อนหรือคนที่มีความสามารถในการวิจารณ์จริงๆ ช่วยดูงานให้หน่อย เราจะได้รู้ว่ามีข้อดี ข้อเสีย ตรงไหนบ้าง เพื่อจะได้นำเอามาปรับปรุงแก้ไขผลงานให้ดีขึ้น
ปกติแล้วผมจะไม่เขียนงานตอนที่ตัวเองว้าวุ่น ต้องหาเวลาเงียบๆ สงบๆ (ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเขียนตอนดึก เพราะต้องเรียนและทำงานประจำไปด้วย แต่ตอนนี้ทำงานอยู่ที่บ้านแล้ว เลยตื่นมาเขียนตอนเช้าแทน) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าไม่รู้สึกกับเรื่องนี้มากๆ ก็จะไม่เขียนเลย (เพื่อนผมคนหนึ่งบอกอีกว่า “ถ้าไม่รู้สึกว่าตัวเองมอดไหม้กับงานมากขนาดนั้น มันก็เป็นได้แค่สเตตัสเฟซบุ๊ก ถ้าอย่างนั้นสู้ไม่เขียนเลยยังดีกว่า”)
เมื่อมีเรื่องที่จะเขียนแล้ว ก็ต้องมีกำหนดเวลาทำงานที่ชัดเจน จะเขียนตอนไหน เวลาไหน กี่ชั่วโมง (บางครั้งถึงขนาดว่าต้องเขียนให้ได้กี่หน้าต่อวัน) และที่สำคัญ ต้องเขียนให้ได้ตามที่กำหนด – อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบมากๆ ต้องส่งให้ทันตามเดดไลน์กำหนด เพราะฉะนั้นผมเลยฝึกทักษะนี้กับตัวเอง ตั้งเวลากำหนดส่งงานให้ชัดเจน ทำงานให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ (เพราะประสบการณ์การทำนิตยสารและการเป็นบก. เล่ม บอกให้รู้ว่าเดดไลน์นั้นสำคัญขนาดไหน)
ผมเป็นคนเขียนหนังสือค่อนข้างเร็ว แต่ต้องมีภาพในหัวหรือมีประเด็นของเรื่องชัดเจน เลยให้ความสำคัญไปกับการวางพล็อต วางโครงเรื่องให้ละเอียดที่สุดจนมองเห็นปลายทางของเรื่อง (บางครั้งเห็นตอนจบ) แล้วค่อยเริ่มเขียน การทำงานจะไม่ค่อยมีปัญหามากเท่าไหร่ จะใช้วิธีการเขียนไปเรื่อยๆ ก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่าน มาอีดิตงานทีหลัง แต่จะไม่แก้มั่วซั่ว ต้องยึดโครงเรื่องเป็นไบเบิล แต่ถ้าหากมีประเด็นย่อยอยากเพิ่มเติมก็พิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยเกิดขึ้นมากเท่าไหร่จากที่ได้เขียนมา
การได้รับคอมเมนต์เป็นสิ่งสำคัญ แต่มันไม่ใช่ทุกอย่าง
แน่นอนว่าเมื่อเราเขียนอะไรไปแล้ว ย่อมต้องการรู้ฟีดแบคจากคนอื่น ว่างานของเราดีหรือไม่นะ ถ้าไม่ดี แล้วไม่ดีตรงไหนล่ะ บอกกันหน่อยสิ จะได้เอาไปแก้ไข แต่อย่าเงียบสิ แบบนี้มันใจคอไม่ดีเลย
เห็นบ่อยๆ ตามกระทู้ในบอร์ดนักเขียนว่า “ไม่มีคอมเมนต์เลย แปลว่างานเราไม่ดีหรือเปล่า” ผมคิดว่ามันไม่จริงทั้งหมด การที่คนจะเห็นนิยายของเราจากจำนวนนิยายอีกหลายเรื่องในเว็บนั้นเป็นเรื่องยาก ยิ่งเขียนจำนวนตอนน้อยๆ โอกาสก็แทบจะไม่มี เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เราทำงานของเราไป เขียนในแบบที่เราอยากให้มันเป็น ถ้ามีคนคอมเมนต์ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร
แต่เดี๋ยวนี้ก็มีคนรับวิจารณ์นิยายในเว็บเยอะเหมือนกัน (เวลาเลือกคนวิจารณ์ อยากให้ลองไปอ่านบทวิจารณ์ที่เขาเขียนก่อน ว่าวิเคราะห์งานได้โอเคมั้ย ชี้แนะให้เห็นข้อผิดพลาดมากน้อยเพียงใด มีความน่าเชื่อถือมากหรือไม่) เพราะถ้าหากไม่เลือกดีๆ ก็จะได้รับบทวิจารณ์มั่วๆ เขียนด่าเอาสนุก ทำลายกำลังใจนักเขียน จนบางทีท้อจนไม่อยากเขียนต่อไปเลยก็มี
เรื่องพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องฟังหูไว้หู เราควรฟังความเห็นของคนให้มากที่สุด แต่คนที่ควรเชื่อที่สุดคือตัวเราเอง (แต่ไม่ใช่ว่ายึดมั่นในอีโก้นะ) แล้วค่อยนำเอาความเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุง พัฒนางานของเราต่อไป
ตั้งแต่เปลี่ยนแนวการเขียน มาเขียนงานแนวสัจนิยม (ที่แทบไม่มีคนอ่านในเด็กดี) ก็ชาชินกับการร้างไร้คอมเมนต์มานานแล้ว คนที่เข้ามาอ่านแล้วคอมเมนต์ให้ก็ถือเป็นกำลังใจที่หล่อเลี้ยงงานเขียนในซอกหลืบของเว็บให้ได้ชื่นใจกันบ้าง นิยายที่ผมเขียนมีแฟนคลับน้อยมาก (ไม่ถึง 30 คนด้วยซ้ำ) ก็ไม่ได้รู้สึกแย่ เพราะคิดว่า นี่แหละคือคนที่ชอบงานเราจริงๆ ถ้างานมันดี เดี๋ยวยอดก็เพิ่มขึ้นเอง เราต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงาน
บนเส้นทางที่โรยด้วยตัวอักษร
ทุกวันนี้แม้จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือ แต่งานที่เขียนส่วนก็เป็นเรื่องสั้นและบทความเสียเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้กำลังพยายามปลุกปั้นนิยายเรื่องใหม่ หลังจากที่ไม่ได้เขียนไปนาน การไป Workshop เขียนนิยายแฟนตาซีของเด็กดีนั้นทำให้ได้พลังเหล่านี้กลับมา แม้สไตล์การเขียนและวิธีคิดจะเปลี่ยนไป จุดมุ่งหมายที่อยากจะมีนิยายของตัวเองฝากไว้บนโลกนี้ก็ยังคงเหมือนเดิม
จุดอ่อนในงานตัวเองคือ พล็อตเรื่องที่ยังไม่แหวกแนวเท่าที่ควร แม้จะพยายามใช้ความเข้มข้นของประเด็นเนื้อหาที่นำเสนอมากลบแต่ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยได้ไม่มากเท่าไหร่ ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคิดเรื่องให้มากกว่านี้ แต่ที่ได้รับคำชมจากพี่ๆ นักเขียน หรือเพื่อนๆ นักอ่านก็คือ สำนวนภาษาที่อ่านง่าย กระชับ เข้าใจได้ทันที ไม่ต้องตีความอะไรมาก อ่านได้เพลินๆ จนจบ ซึ่งเป็นข้อดีและเป็นเอกลักษณ์ในการเขียนของผมอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ผมไม่รู้ว่าจะจำกัดความสไตล์การเขียนของตัวเองว่าอย่างไร แต่งานเขียนที่เขียนอยู่ตอนนี้มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง ความรัก เพศ การเมือง ดิสโทเปีย และชนชั้น ถ้าสรุปง่ายๆ ก็คงเป็นวรรณกรรมซีเรียสที่มีประเด็นยากๆ (แต่อ่านง่าย) ล่ะมั้ง แต่ยังติดปัญหาตรงที่ติดนิสัยการเขียนเรื่องสั้น พอจะลงมือเขียนนิยายแล้วพบว่าเขียนได้ไม่ยาว ไม่มีส่วนขยายมากเท่าที่นิยายควรจะเป็น
ถ้าหากเป็นนักเขียนแล้วไม่อ่านหนังสือก็คงไม่ได้ ผมพยายามอ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (หลายแนว ไม่ใช่เฉพาะแค่นิยาย) เพื่อเรียนรู้ทักษะการเขียน การสะสมวัตถุดิบ เพื่อให้งานเขียนของผมลุ่มลึก รอบด้าน และทำให้ความคิดที่ต้องการจะสื่อลงไปในงานคมคายมากยิ่งขึ้น
เคล็ดลับก็คงไม่มีอะไรมาก แค่เขียน และรับผิดชอบงานของตัวเองให้ดีที่สุด ให้คิดเสมอว่าทุกตอนที่เรากำลังจะอัปขึ้นเว็บมีคนรออ่านอยู่ เขาคาดหวังอะไรจากงานของเรา แล้วเราจะทำได้ดีอย่างที่เขาคาดหวังไว้หรือเปล่า คิดเสมอว่างานของเราอาจจะมีแมวมองมาแอบดูอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขียนแล้ว ก็เขียนให้เต็มที่ อย่าเขียนทิ้งๆ ขว้างๆ เพราะไม่อย่างนั้น งานเขียนนั่นแหละ จะทิ้งขว้างเราเอง
Be the force be with you ครับ 

Standard
ไม่มีหมวดหมู่

เด็กดี พื้นที่ ความทรงจำ

writer dekd

ผมรู้จักเว็บเด็กดีครั้งแรกตอนอายุ 14
ได้ยินมาว่าเว็บนี้เป็นที่เขียนนิยาย มีแมวมองจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มาหาดาวเด่นและชวนไปตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ
ตอนนั้นยังเขียนนิยายไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่ อาศัยจากที่อ่านมา (แค่แฮรี่ พอตเตอร์ แล้วก็นิยายแฟนตาซีอีกเล่มนึง) บวกกับความอยากเขียน ก็เลยสร้างโลกในจินตนาการของตัวเองขึ้นมาซะเลย
จำได้ว่าตอนนั้นสนุกมาก เขียนใส่สมุด ไม่กล้าเอาให้ใครอ่าน เก็บไว้อ่านเอง จนนึกคึกอยากลองเขียนลงเว็บให้คนอื่นอ่านดูบ้าง และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการเป็นนัก (อยาก) เขียน ของผม และจุดเริ่มต้นกับเว็บๆ นี้

ผมยังคงเขียนนิยายอยู่เรื่อยๆ ในเว็บนี้
เปิดเรื่องใหม่ ดองเรื่องเก่า ตอบกระทู้ในเว็บบอร์ด มีกลุ่มเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ที่พูดคุยเรื่องนิยายและหนังสือกัน
ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก อยากเขียน อยากอ่านอยู่ตลอด
ทักษะการเขียนค่อยๆ เริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ ช่วงวัย หนังสือที่อ่าน งานที่เขียนช่วงหลังๆ ก็จะออกแนวเข้มข้นขึ้น หากเทียบกับเรื่องแรกที่อัปลงไปในเว็บ

เชื่อว่านักเขียนหลายๆ คนคงมีจุดเริ่มต้นจากการเขียนลงเด็กดี มีคนอ่านที่อยากติดตามเรื่องที่เราเขียน มีคอยคอมเมนต์ วาดแฟนอาร์ตให้
มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ ที่มีคนยอมรับเรา และนั่นเองที่ผมได้รับมาตลอดจากการเขียนเรื่องลงในเด็กดี แม้มันจะไม่มากเท่าของนักเขียนดังๆ เหล่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมความฝันของผม ให้เดินไปในเส้นทางสายนี้อย่างมั่นคง

เพราะการเขียนนิยายลงในเด็กดีด้วยล่ะมั้ง ที่เป็นจุดสำคัญในการเลือกเส้นทางชีวิต
ผมสอบเข้าโควตาพิเศษได้เพราะเขียนนิยายที่เด็กดี
ได้ใช้ความนี้เป็นใบเบิกทางสู่มหาวิทยาลัย และจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้เอง ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผม

เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวเอง
ผมเจอเพื่อนๆ ที่ชอบเขียน ชอบอ่าน และอยากจะเป็นนักเขียนเหมือนกันในมหาวิทยาลัย และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน
ได้เข้าค่ายการเป็นนักเขียนที่ต่อยอดมาจากนิยายในเว็บ
จนสุดท้าย ผมได้เข้ามาฝึกงาน และทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของเว็บนี้

แม้จะไม่ได้ทำงานที่นี่นานมากนัก แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก
ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มีคนสนับสนุน และให้โอกาสผมได้คิด และลงมือทำ จนสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
เพราะการฝึกงานที่นี่ ทำให้ผมมีแนวคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และถ้ามีคนสนับสนุนหรือชอบในสิ่งที่ผมทำ ผมลุยสุดความสามารถอย่างแน่นอน

แต่เพราะช่วงวัยที่มากขึ้น บวกกับรสนิยมทางการอ่านและการเขียน ทำให้ผมค่อยๆ ห่างจากนิยายในเด็กดีไปมากพอสมควร
จนได้กลับมาเจอกันอีกครั้งเพราะงานเวิร์คชอปการเขียนนิยายแฟนตาซี ที่อยู่ๆ ก็อยากลองสมัคร อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้
ผมลองส่งผลงานนิยายแนวสัจจนิยม ซึ่งเป็นนิยายที่คนในเว็บไม่อ่าน สำนักพิมพ์ไม่ซื้อ เพื่อเข้ารับการคัดเลือก
และผมได้เข้าร่วมค่ายนี้เพราะความแปลกของงานที่ส่งไปล่ะมั้ง

ในเวิร์คชอปครั้งนี้ผมได้รื้อฟื้นความรู้สึกต่างๆ ได้เจอพี่ๆ เว็บมาสเตอร์ เพื่อนๆ ในเว็บบอร์ด และเหล่านักเขียนนิยายแฟนตาซีที่เราชอบมากๆ
เหล่านักเขียนและบรรณาธิการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้พวกเราอย่างเต็มที่ คอมเมนต์งานให้อย่างจริงใจ ชมจริง ด่าจริง เจ็บจริง แต่สิ่งที่ได้กลับไปนั้นมหาศาลอย่างมาก
ผมกลับมาถามตัวเอง… ทำไมเราถึงไม่เขียนนิยายแฟนตาซีอีกครั้งล่ะ เพราะมางานนี้นอกจากจะได้เทคนิคดีๆ แล้ว ยังได้แรงบันดาลใจ ไอเดียใหม่ๆ จากเพื่อนๆ ที่นั่งเวิร์คชอปด้วยกันอีกต่างหาก

ก่อนจบค่าย ผมได้รับรางวัลเป็นนิยายหนึ่งชุด
เป็นอีกความภูมิใจหนึ่ง ที่ยังมีคนชื่นชอบงานของเรา
เย็นวันนั้นผมรีบกลับบ้าน เข้าเด็กดี เล่นเว็บบอร์ด ตะลุยอ่านนิยายในเว็บอย่างบ้าคลั่ง
เปิดอนิเม ดูการ์ตูน ทำเหมือนกับตอนที่เริ่มเขียนนิยายแฟนตาซีใหม่ๆ
ผมชอบตัวเองที่ได้อยู่ในบรรยากาศแบบนี้ อยู่ในโลกของจินตนาการ ความฝัน เวทมนตร์ และคมดาบ

ความรู้สึกต่างๆ แล่นเข้ามาในความทรงจำ
ความอยากเขียนนิยายอย่างบ้าคลั่งเหมือนตอนเริ่มเขียนครั้งแรก
ความรู้สึกเหล่านั้น ความบ้าแบบนั้นกลับมาอีกครั้ง
มันเป็นความรู้สึกที่หายไปนานแล้ว ถ้าหากไม่ได้เข้าเวิร์คชอปในวันนั้น ผมคงไม่ได้กลับไปพูดคุยกับตัวเองในอดีตที่เคยบ้าการเขียน บ้าอ่านนิยาย อย่างนี้

ความรู้สึกเก่าๆ ย้อนกลับมา
ผมหยิบดินสอและสมุดมาปัดฝุ่น
คิดถึงโลกจินตนาการที่ห่างหายไปนาน
แล้วจรดดินสอสร้างมันขึ้นมา ด้วยความรู้สึกที่คุ้นเคย… อีกครั้ง

Standard